วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
       ในสังคมปัจจุบันไม่ว่าใครจะอยู่ที่ใด แม้ในเมืองหรือชนบทก็ตาม  ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลหรือสังคมอื่นอยู่เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นหรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวันด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง   วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีเครื่องมือหรือกลไกเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น การถอนเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM : Automatic Teller/Technology Machine) การสแกนลายนิ้วมือการเข้าปฏิบัติงานในสำนักงาน การจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าผ่านบัตรแถบแม่เหล็ก เป็นต้น
                 

 กระแสโลกาภิวัตน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
        กระแสโลกาภิวัตน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในปัจจุบันช่วยให้ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเราสะดวกสบายมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อน  การเดินทางและติดต่อสื่อสารระหว่างกันสามารถทำได้ง่ายขึ้น  มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานในทุกสาขาอาชีพ  เช่น       การสื่อสาร  การธนาคาร   การบิน  วิศวกรรม สถาปัตยกรรม  การแพทย์ การศึกษาหรือการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลให้วิทยาการต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าและทันสมัยอย่างรวดเร็ว  การติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลกได้ทันเหตุการณ์  สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลในเวลาเดียวกันได้ทั้งที่อยู่ห่างไกลกันคนละสถานที่  เช่น  การถ่ายทอดสด  การเสนอข่าวเหตุการณ์สำคัญ รายการแข่งขันกีฬา  การถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมจากประเทศต่าง ๆ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์รายงาน  สร้างภาพกราฟิก  เก็บข้อมูล  สืบค้นข้อมูล  ฟังเพลง  รวมถึงการประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน  จึงนับได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต การศึกษาและการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน  ช่วยส่งเสริมทักษะและสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กัน 

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีต่อสังคม
        ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  มีบทบาทที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมในหลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการสื่อสารที่รวดเร็วและกว้างไกล
ช่วยทำให้วิทยาการต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าและทันสมัยอย่างรวดเร็ว
การรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของโลกเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
สามารถเข้าถึงคลังข้อมูลข่าวสารจำนวนมากซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต
สนับสนุนการทำงานและกระบวนการผลิต  เช่น  การใช้คอมพิวเตอร์ในการวางแผนการออกแบบและการควบคุมระบบการทำงาน
-ส่งเสริมระบบบริหารจัดการในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหน่วยงานหรือองค์กร
-กระจายโอกาสด้านการศึกษาให้ผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลสามารถเรียนรู้ผ่านระบบการสอนทางไกลหรือผ่านดาวเทียมได้
-สามารถเผยแพร่สารสนเทศและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สังคมโลกได้โดยง่าย เช่น การเผยแพร่งานในอินเตอร์เน็ตตำบล  เป็นต้น
-  ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง